สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนต่อเติมบ้าน และอาคาร
หลายคนกำลังคิดจะต่อเติมบ้าน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง จะทำไป ก็กลัวหลายๆอย่าง กลัวมีปัญหากับข้างบ้าน กลัวผู้รับเหมาทิ้งงาน กลัวทำแล้ว ไม่ได้คุณภาพ มีรอยแตกร้าว หรือ ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับช่าง สิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงมือ คือ
1. กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง หรือ พรบ.ควบคุมอาคาร
2. สัญญา / งวดเงิน / งวดงาน ว่าจ้างผู้รับจ้าง
3. เทคนิคการก่อสร้าง
1. กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง หรือ พรบ.ควบคุมอาคาร
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้การก่อสร้าง/ต่อเติมต้องมีระยะห่างระหว่างอาคาร เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและป้องกันการรบกวนบุคคลในพื้นที่ข้างเคียง สรุปพรบ.ง่ายๆ ดังนี้
ก. ระยะห่างระหว่างอาคารที่ก่อสร้าง / ต่อเติม
อาคารชั้นเดียว จนถึงอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร เช่น ต่อเติมพื้นที่หลังบ้าน เป็นห้องครัว ห้องซักล้าง ระเบียงชั้น 2 ระยะห่างผนัง ถ้ามีช่องเปิด (ช่องเปิด หมายถึง หน้าต่าง ช่องลม ช่องที่สามารถส่องผ่านได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ช่องแสง บล็อกแก้ว) ต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียง ไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ถ้าเป็นผนังทึบ (ไม่มีผนังช่องเปิด) ต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียง ไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร
*ยกเว้น การได้รับความยินยอมจากเจ้าของพื้นที่ข้างเคียง เป็นลายลักษณ์อักษร (มีหนังสือยินยอม) สามารถสร้างชิดเขตแนวที่ดินได้
ระยะห่างชายคา / กันสาด (พื้นที่ที่คนขึ้นไปใช้งานหลักไม่ได้) เช่นเดียวกับผนังทึบ ชายคาต้องห่างจากแนวเขต ไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร
ระยะห่างระเบียง (ชั้นบน) (พื้นที่ที่คนสามารถขึ้นไปใช้งานหลักได้) เช่นเดียวกับผนังช่องเปิด ระเบียงต้องห่างจากแนวเขต ไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
2. สัญญา / งวดเงิน / งวดงาน ว่าจ้างผู้รับจ้าง
สัญญาว่าจ้าง ต่อเติม/ก่อสร้างที่ดี ขอกล่าวในฐานะเจ้าของบ้าน (ผู้ว่าจ้าง) นะครับ ควรร่างสัญญาด้วยตัวเอง หรือสัญญาที่ร่างโดยสถาปนิก (ที่อยู่ฝ่ายผู้ว่าจ้าง) จะทำให้เราไม่เสียเปรียบผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) สัญญาควรแนบพร้อมด้วย เอกสารแนบ "งวดงาน-งวดเงิน" โดยงวดงานควรให้ผู้รู้ อย่างสถาปนิกหรือวิศวกรช่วยดูให้นะครับ เพราะมีความรู้ทางเทคนิคการก่อสร้าง โดยเรียงลำดับตั้งแต่ งวดงานที่ 1 ไปจนถึงงวดงานสุดท้าย ซึ่งงวดงานสุดท้าย ควรเป็นงานเล็กๆ เช่น ทำความสะอาด เก็บรายละเอียด หรือกำจัดเศษวัสดุที่เกิดจากการก่อสร้าง
ตัวอย่างงวดงาน
งวดงานที่ 1 เคลียร์พื้นที่ ตอกเสาเข็ม แล้วเสร็จ 100%
งวดงานที่ 2 ทำฐานรากแล้วเสร็จทุกต้น (100%) (ทำตอม่อแล้วเสร็จ 50%)
งวดงานที่ .... (งวดสุดท้าย) ผู้รับจ้างจะต้องเก็บรายละเอียดงาน ทำความสะอาดหน้าพื้นที่ทำงาน รวมถึงเคลื่อนย้ายขยะ หรือเศษวัสดุออกนอกพื้นที่ทำงาน จนกว่าพื้นที่จะพร้อมต่อการส่งมอบงานได้
ส่วน "งวดเงิน" จะต้องระบุว่า จะต้องจ่ายเงินในแต่ละงวดงานเท่าใด เช่น เงินงวดที่ 0 ร้อยละ 10 ของราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด เมื่อผู้รับจ้างทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร(งวดนี้อาจไม่มีก็ได้ แต่เพื่อการทำงานที่ราบรื่นงานผู้รับเหมา อาจเรียกเก็บเงินงวดแรก เมื่อทำสัญญา) เงินงวดที่ 1 ร้อยละ 20 ของราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด เมื่อผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 1 แล้วเสร็จ
เงินงวดที่ .... (สุดท้าย) ร้อยละ 20 (หรือมากกว่า) ของราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด เมื่อผู้รับจ้างทำงานงวดที่ (สุดท้าย) แล้วเสร็จ สาเหตุที่เงินงวดสุดท้ายมาก ทั้งๆ ที่งานที่ทำน้อย เนื่องจากเป็นการทำให้เจ้าของบ้านอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ว่าผู้รับเหมาจะไม่มีทางทิ้งงานจนกว่าจะทำงานเสร็จสิ้น
3. เทคนิคการก่อสร้าง
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "บ้านทุกหลัง หรือทุกอาคารมีการทรุดตัว" ไม่ว่าจะตอก เจาะ เสาเข็มหรือไม่ ก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าจะมาก หรือน้อย แตกต่างกัน เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ก็ต้องเข้าใจว่า "การต่อเติม" โครงสร้างใหม่ เข้าไปกับโครงสร้างบ้านเดิม ย่อมมีการ "แยก" ออกจากกัน โดยเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างบ้านเดิม อยู่บนเสาเข็มที่ตอกไปแล้ว อาจมีการทรุดบ้าง แต่น้อย เช่น 1 เซนติเมตรต่อ 2 ปี แต่ส่วนต่อเติมเช่น ครัวหลังบ้าน ไม่ได้ตอกเข็ม ทรุดลงปีละ 3 เซนติเมตร ทำให้เกิดรอยแตกร้าว เป็นต้น
หากลูกค้าไม่มั่นใจในด้านคุณภาพ กลัวผู้รับเหมาทิ้งงาน และราคาไม่เหมาะสม สามารถติดต่อสอบถามตามหน้าเว็บไซค์ของเราได้ เราพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำการบริการลูกค้าทุกท่านอย่างมืออาชีพ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : https://pantip.com/topic/33733261